รีวิว ไปเที่ยวกันเถอะ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงเรือพระราชพิธี

สวัสดีครับ นี่เป็นกระทู้แรกของผมที่รีวิวสถานที่เที่ยว ยังไงก็ติชมกันได้นะครับ

เนื่องจากวันนี้ (23 กรกฎาคม 2559) อากาศดี ผมจึงไปตามหาพิพิธภัณฑ์สุดลึกลับแห่งหนึ่ง นั่นก็คือ พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี ครับ  ผมเคยเปิดดูสถานที่ตั้งจากกูเกิ้ลแมพ แล้วพบว่าที่นี่ต่างจากที่อื่น เพราะมันไม่ได้ติดถนนใหญ่ แต่ต้องเดินเข้าซอยไปอย่างลึกลับ ซอยตันด้วย เอายังไงล่ะทีนี้  แต่จากที่เคยอ่านรีวิวเก่าๆ เค้าบอกว่าจะมีป้ายบอกทางไปตลอด ก็น่าจะโอเคครับ เลยไปทดลองดู



การเดินทาง
จากที่เห็นในกูเกิ้ลแมพ ที่นี่จะอยู่ตรงปากคลองบางกอกน้อยครับ ทางเข้าจะเป็นซอยวัดดุสิตาราม ผมเลยเลือกไปด้วยเรือด่วนเจ้าพระยา ผมขึ้นเรือจากท่าเรือเกียกกาย (บ้านผมอยู่แถวนั้น เดินจากบ้านมาขึ้นเรือตรงนี้ได้เลย) แล้วก็ไปลงเรือที่ท่าเรือปิ่นเกล้าครับ จากท่าเรือปิ่นเกล้า เดินลอดใต้สะพานพระปิ่นเกล้ามา จะเจอโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม เดินไปอีกนิดจะเป็นซอยทางเข้าวัดดุสิตาราม เดินเข้าซอยนั้นเลยครับ  เดินเลยวัดดุสิตารามไปนิดนึงก็จะมีป้ายเล็กๆ ชี้ให้เราเลี้ยวขวา เขียนว่า เรือพระราชพิธี  ทางเข้าจะเป็นตรอกเล็กๆ เลยครับ เล็กขนาดที่ว่ารถยนต์เข้าไม่ได้  ถ้าเป็นมอไซค์ก็จะพอดีคัน เป็นชุมชนดั้งเดิมเลยครับ อย่าหวั่นไหว เดินเข้าไปเลย เข้าไปแล้วจะมีป้ายเป็นระยะครับ มีทั้งป้ายแบบเป็นทางการ และไม่ทางการ บางอันก็เป็นภาษาไทย “เรือพระราชพิธี” บางอันก็เป็นภาษาอังกฤษ “Royal Barges” เดินตามไปเรื่อยๆ ครับ ไกลหน่อย ถ้าไม่มั่นใจก็ถามคนแถวนั้นได้ครับ แล้วในท้ายสุดเราจะเจอโรงจอดเรือทางด้านหลัง เห็นหัวเรือพระที่นั่งอยู่ไกลๆ ก็เดินเข้าไปเลยครับ ถึงแล้ว เย่


เนื่องจากตอนขาเข้ามันสมบุกสมบันดีเหลือเกิน  ตอนขากลับผมเลยถามพี่เจ้าหน้าที่เค้าว่ามีทางออกทางอื่นมั้ย เค้าบอกว่ามีครับ จากโรงจอดเรือ ติดกันเลยจะเป็น ค่ายทหาร “กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ” เราสามารถเดินเข้าประตูข้างๆ ค่ายที่ติดกับโรงจอดเรือพระราชพิธี ทะลุผ่านค่ายไปออกทางด้านหน้า จะเจอสะพานอรุณอัมรินทร์พอดีเลยครับ จริงๆ ถ้าเข้าทางนี้จะง่ายกว่ามาก เดินน้อยด้วย แต่กูเกิ้ลดันไม่บอกซะงั้น จากตรงนี้ผมเลือกเดินข้ามสะพานอรุณอัมรินทร์ ผ่านศิริราช ไปเดินเล่นวังหลัง แล้วนั่งเรือข้ามฟากไปท่าพระจันทร์ แล้วขึ้นรถเมล์กลับบ้านครับ สะดวกสะบายดีมาก

พิพิธภัณฑ์ 
เปิดทุกวันครับ ตั้งแต่ 9.00 – 17.00 ปิดแค่วันหยุดปีใหม่กับสงกรานต์ ค่าเข้าคนไทย 20 บาท แต่ ถ้าจะถ่ายรูป จ่ายเพิ่มอีก 100 ครับ ผมจ่ายไป 120 บาท ถ่ายรูปมันส์มาก ถึงจะกล้องมือถือก็เถอะ ถือว่าช่วยสนับสนุนพิพิธภัณฑ์เนอะ



ส่วนจัดแสดง 
ที่นี่จะเป็นอาคารหลังเดียว เป็นโรงเก็บเรือเลยครับ ทั้งพิพิธภัณฑ์มีโรงเดียวเลย มีส่วนของวีดีทัศน์ให้นั่งดู มีลำเรือต่างๆ วางเรียงรายต่อกัน และจัดแสดงอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ไว้รอบๆ ครับ มีความดิบ มีความอินดี้ มีความมินิมอลลิสท์

เดิมเป็นอู่หรือโรงเก็บเรือพระราชพิธี โดยมีสำนักพระราชวังและกองทัพเรือควบคุมดูแล เมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 อู่และเรือพระราชพิธีบางส่วนถูกระเบิดได้รับความเสียหาย และอยู่ในสภาพทรุดโทรมต่อมาอีกหลายปี
ในปี พ.ศ. 2490 สำนักพระราชวังและกองทัพเรือได้มอบหมายให้กรมศิลปากรบูรณะซ่อมแซมเรือพระที่นั่งและเรือเก่าที่ใช้ในพระราชพิธี ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ความงดงามทางศิลปกรรม ในปีพ.ศ. 2517 กรมศิลปากรได้ขอขึ้นทะเบียนเรือพระที่นั่งต่าง ๆ ให้เป็นมรดกของชาติ พร้อมกับยกฐานะของอู่เรือหลวงขึ้นเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี”


เครดิตข้อมูลครับ
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4_%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5



เรือเอกชัยเหินหาว
เป็นเรือคู่ชักที่จะคอยกระหนาบเรือพระที่นั่งในขบวนพยุหยาตราครับ ใช้สำหรับชักลากเรือพระที่นั่ง ในกรณีที่ฝีพายเรือพระที่นั่งมีจำนวนไม่เพียงพอ  จะมีสองลำคู่กันเพื่อกระหนาบทางซ้ายหนึ่งลำขวาหนึ่งลำ ลำหนึ่งคือเรือเอกชัยเหินหาว กับอีกลำจะเป็นเรือเอกชัยหลาวทองครับ แต่ที่นี่มีเรือเอกชัยเหินหาวลำเดียว

โขนเรือ เป็นไม้รูปดั้งเชิดสูง เขึยนลายรดน้ำรูปเหรา (เห-รา) หรือ จระเข้ ปิดทอง
ขนาด : ความยาว 29.76 เมตร กว้าง 2.06 เมตร กินน้ำลึก 0.60 เมตร
ลูกเรือ 40 คน : ฝีพาย 38 คน นายท้าย 2 คน



ท้ายเรือ เอกชัยเหินหาว


เรือกระบี่ปราบเมืองมาร
เรือรูปสัตว์ในขบวนพยุหยาตราครับ จะมีคู่กันสองลำคือ กระบี่ปราบเมืองมาร กับ กระบี่ราญรอนราพณ์  จริงๆ แล้วมีอีกหลายคู่ครับ อย่างเรือกระบี่ก็จะมีสองลำคู่กันคือ กระบี่ปราบเมืองมาร กับ กระบี่ราณรอนราพณ์  เรืออสุรก็จะคู่กันคือ อสุรวายุภักษ์ กับ อสุรปักษี แบบนี้เป็นต้นครับ  ส่วนมากเรือในขบวนมักจะมีเป็นคู่เพื่อความสวยงามและสมดุลซ้ายขวา ยกเว้นเรือพระที่นั่ง ที่จะเป็นลำเดียวๆ วิ่งตามกันตรงกลางขบวนครับ

โขนเรือ : เป็นรูปวานร (กระบี่) สีขาว เมื่อเข้าร่วมขบวนพยุหยาตรา จะประดับธงไชยสองผืนซ้ายขวา ที่มือและพาดผ่านไปบนบ่า
ขนาด : ความยาว 26.80 เมตร กว้าง 2.10 เมตร กินน้ำลึก 0.25 เมตร
ลูกเรือ 38 คน : ฝีพาย  36 คน  นายท้าย 2 คน





เรือพระที่นั่ง นารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
เรือพระที่นั่ง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ กาลเวลาผ่านมาเนิ่นนานก็พังลงไปตามสภาพครับ จึงได้มีการเก็บรักษาในส่วนของหัวเรือเอาไว้ แล้วมีการสร้างขึ้นมาใหม่ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙  พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า เรือพระที่นั่ง นารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ มีสถานะเป็นเรือพระที่นั่งรองทอดบัลลังก์กัญญาครับ

โขนเรือ : ทำจากไม้สักทอง ลงรักปิดทองประดับกระจก จำหลักรูปพระนารายณ์ ๔ กร ประทับยืนบนหลังพญาครุฑ ส่วนปลายท้ายเรือแกะสลักเป็นลายกนกหางครุฑ ท้องเรือด้านนอกทาสีแดงชาด
ขนาด:  ความยาว 44.3 เมตร กว้าง 3.2 เมตร กินน้ำลึก 0.4 เมตร
ลูกเรือ 57 คน : ฝีพาย 50 คน นายท้าย 2 คน นายเรือ 2 คน คนถือธง 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนเห่เรือ 1 คน

โดยส่วนตัวรู้สึกว่าของจริงนี่ใหญ่มากครับ จากหัวเรือถึงท้ายเรือนี่เดินกันหลายก้าวเลย ใหญ่จริงๆ ไม่เหมือนกับที่เคยเห็นในทีวีเลย ในทีวีว่าสวยแล้ว ของจริงใกล้ๆ นี่สวยกว่าในทีวีเยอะมากครับ





บัลลังก์กัญญาเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙


ท้ายเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙


ลายหัวเรือ


เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เรือพระที่นั่งทอดบัลลังก์กัญญา มักใช้เป็นเรือพระที่นั่งทรงของพระเจ้าอยู่หัว เป็นเรือพระที่นั่งแบบโบราณ มีกล่าวถึงครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมเรียกว่าเรือ สุวรรณหงส์ ครับ ในสมัยรัตนโกสินทร์ เรือพระที่สั่งศรีสุพรรรหงส์ถูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นเรืออัญเชิญพระบรมธาตุที่ได้มาจากเวียงจันทน์  หลังจากนั้นก็ได้ชำรุดทรุดโทรมลงและซ่อมแซมกันอีกหลายครั้งครับ เรือพระที่สั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน เป็นเรือที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่มาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ ๖ และเปลี่ยนชื่อเรือมาเป็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ 

โขนเรือ : เป็นรูปหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจก เมื่อนำมาใช้ในกระบวนพยุยาตรา จะประดับบริเวณปากหงส์ด้วยพู่ห้อยขนจามรีสีขาว และแก้วคริสตัล ตกแต่งให้สวยงาม ท้องเรือด้านนอกทาสีดำ
ขนาด : ความยาว 44.9 เมตร กว้าง 3.14 เมตร กินน้ำลึก 0.41 เมตร
ลูกเรือ 57 คน : ฝีพาย 50 คน นายท้าย 2 คน นายเรือ 2 คน คนถือธง 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนเห่เรือ 1 คน





พู่ห้อย


บัลลังก์กัญญา


ท้ายเรือ


เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์
เรือพระที่นั่งรอง ที่มีลักษณะเด่นคือมีโขนเรือเชิดเรียว และไม่ได้สร้างเป็นรูปสัตว์ในตำนาน แต่จำหลักและปิดทองเป็นรูปพญานาคจำนวนมากมาย  สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินแบบลำลอง

โขนเรือ มีลักษณะเชิดเรียว แกะสลักเป็ดลวดลายพญานาคจำนวนมากทั้งส่วนหัวเรือ และส่วนท้ายเรือ ท้องเรือด้านนอกทาสีชมพูพรุ้งฟริ้ง 
ขนาด ความยาว 45.5 เมตร กว้าง 3.15 เมตร กินน้ำลึก 0.46 เมตร
ลูกเรือ 68 คน : ฝีพาย 61 คน นายท้าย 2 คน นายเรือ 2 คน คนถือธง 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนเห่เรือ 1 คน



ลายหัวเรือ


บัลลังก์กัญญาของเรือเอนกชาติภุชงค์


ท้ายเรือ


เรือครุฑเหินเห็จ
เป็นเรือรูปสัตว์ประเภทเรือเหล่าแสนยากร คู่กันกับเรือ ครุฑเตร็จไตรจักร ครับ ส่วนเรือครุฑเตร็จไตรจักร ตอนนี้เก็บรักษาไว้ที่ท่าวาสุกรี

โขนเรือ เป็นรูปครุฑสีแดงยุดนาค 
ขนาด ความยาว 27.1 เมตร กว้าง 1.9 เมตร กินน้ำลึก 0.29 เมตร
ลูกเรือ 36 คน : ฝีพาย 34 คน และนายท้าย 2 คน





เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือพระที่นั่งบัลลังก์บุษบก โดยปกติใช้เป็นเรือพระที่นั่งรอง หรือเชิญผ้าพระกฐิน หรือประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ส่วนลำปัจจุบันเป็นลำที่สร้างใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๖ 

โขนเรือ เป็นรูปพญาอนันตนาคราช 7 เศียร หัวเรือจำหลักเป็นลายนาคที่แตกต่างกับเรือเอนกชาติภุชงค์ ท้องเรือด้านนอกทาสีเขียว 
ขนาด : ความยาว 42.95 เมตร กว้าง 2.95 เมตร กินน้ำลึก 0.31 เมตร
ลูกเรือ 61 คน : ฝีพาย 54 คน นายท้ายเรือ 2 คน นายเรือ 2 คน คนถือธง 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนเห่เรือ 1 คน



ลายหัวเรือ


บุษบกเรืออนันตนาคราช


ท้ายเรือ


จริงๆ มีเรือรูปสัตว์อีกลำหนึ่งคือเรือ อสุรวายุภักษ์ ครับ แต่ถ่ายรูปไม่ติดซะงั้น สงสัยอยากให้ไปอีกรอบ  ทริปนี้ก็จบลงด้วยประการฉะนี้ครับ เพราะเดินไกลและร้อน ขากลับก็เดินไปหาอะไรเย็นๆ กินดับร้อนที่วังหลังนะครับ อยู่ใกล้ๆ กัน

สวัสดี และ ขอบคุณครับ



ที่มา Pantip
Cr. Sith Lord Nindle